Popular Post

Popular Posts

29 กุมภาพันธ์ ทำไม 4 ปีถึงมีแค่ครั้งเดียวนะ? 

          เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมบางปีในเดือน กุมภาพันธ์ ถึงมี 28 วันบ้าง 29 วันบ้าง วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกันนะ^^

 กำเนิดเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มแรกมี 29 สลับกับ 30 วัน 

          ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัย จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)แห่งโรมัน เมื่อ 46 ปีก่อนคริสตกาล ซีซาร์เป็นคนแรกที่ริเริ่มให้ใช้ "ปฏิทินจูเลียน" (Julian calendar) ซึ่งได้ทำการปรับเปลี่ยนจำนวนเดือนเสียใหม่ โดยก่อนหน้านั้นชาวโรมันใช้ "ปฏิทินโรมัน" กันมา ซึ่ง 1 ปีปฏิทินมี 10 เดือน (304 วัน) คือ Martius, Aprilis, Maius, Junius, Quintilis, Sextilis, September, October, November และ December เทียบแล้วก็คือ มีนาคม-ธันวาคม ของปัจจุบันนั่นเอง และในบางปีจะมีการทดเดือนพิเศษเข้ามาเพื่อให้มีวันใกล้เคียงตามสุริยคติ  

          แต่ซีซาร์เห็นว่าปฏิทินแบบเดิมซึ่งนับเดือนตามข้างขึ้นข้างแรมนั้นมีความไม่เหมาะสม จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 2 เดือน คือ January และ Febuary (มกราคมและกุมภาพันธ์) ให้แต่ละเดือนมีจำนวนวัน 30 และ 31 วันคละกันไป ยกเว้นเสียแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ให้มี 29 วัน แต่ก็ยกเว้นในปีอธิกสุรทิน (ปีที่ปฏิทินมี 366 วัน) ก็จะให้เดือนกุมภาพันธ์มี 30 วันได้ นอกจากนี้ซีซาร์ยังได้เปลี่ยนชื่อเดือน Quintilis ซึ่งเป็นเดือนเกิดของตนเป็น July ตามชื่อตัวเองด้วย 
                

*** อ่อออ เดือน July นี่ก็มาจากการเปลี่ยนชื่อเดือนให้คล้องกับชื่อกษัตริย์ Julius นั่นเอง^^


ปฏิทินจูเลียน ภาพจาก science
 จุดเปลี่ยนเดือนกุมภาพันธ์ เหลือ 28 สลับกับ 29 วัน 

          หลังจากที่ จูเลียส ซีซาร์ ได้กำหนดให้หนึ่งปีมี 12 เดือน พร้อมกับเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 29 และ 30 วัน สลับกันไปนั้น ปฏิทินจูเลียนก็ถูกใช้สืบต่อเรื่อยมา จนถึงยุคของ ออกัสตุส ซีซาร์ (Augustus Caesar) ลูกบุญธรรมของ จูเลียส ซีซาร์ ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ปฏิทินจูเลียนก็มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกคราว

          พระเจ้าออกัสตุสนั้นอยากมีเดือนเพื่อเป็นเกียรติแก่ตัวเองเช่นบิดาบ้าง จึงได้เปลี่ยนชื่อเดือน Sextilis ซึ่งเป็นเดือนเกิดของตนเป็นชื่อ August เท่านั้นยังไม่พอ ทรงเห็นว่าเดือนนี้มีเพียง 30 วัน ซึ่งการมีจำนวนวันเป็นเลขคู่นั้นถือเป็นเดือนโชคร้าย จึงไปดึงวันจากเดือนเกิดใหม่อย่างกุมภาพันธ์มาใส่ ทำให้เดือนสิงหาคมมี 31 วัน และเดือนกุมภาพันธ์เหลืออยู่ 28 วัน และก็กลายเป็น 29 วันในปีอธิกสุรทินอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันไปนั่นเอง 


*** และนี่ก็เป็นที่มาของชื่อเดือนใหม่ นั่นก็คือเดือน August ซึ่งมาจากชื่อกษัตริย์ Augustus นั่นเอง^^

 29 กุมภาพันธ์ ทำไม 4 ปีถึงมีแค่ครั้งเดียว ?
          เหตุผลที่เดือนกุมภาพันธ์เดี๋ยวมี 28 วันบ้าง 29 วันบ้าง แถมต้องรอตั้ง 4 ปี ถึงจะได้มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ สักครั้ง นั่นก็เป็นเพราะปฏิทินจูเลียนได้อ้างอิงการนับวันตามระบบสุริยคติหรือดูจากตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก และก่อนคำนวณปฏิทินนี้ขึ้น ชาวโรมันผู้ซึ่งเป็นคนพวกแรกที่คำนวณปฏิทินขึ้นมาใช้อย่างเป็นระบบว่า ได้พบว่าโลกใช้เวลาทั้งหมด 365.25 วัน (นับเป็น 1 ปี) ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์  

          แต่ครั้นจะให้ปฏิทินรอบ 1 ปี มี 365 กับเศษอีก 0.25 วัน ก็กระไรอยู่ จึงได้แก้ปัญหาว่าให้เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วันไปเรื่อย ๆ จนครบ 4 ครั้งเมื่อไร ก็เท่ากับว่าได้เวลา 0.25 วันเพิ่มขึ้นมาสี่รอบกลายเป็น 1 วันเต็มพอดี และก็ให้เดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้นมี 29 วันไปนั่นเอง นี่ล่ะเหตุผลว่าทำไมต้องรอถึง 4 ปี ถึงจะได้เห็นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ สักทีหนึ่ง



การปรับวันในปฏิทินเกรโกเรียน ภาพจาก biblelight
          แต่ยังไม่จบแค่นั้น !! ปฏิทินจูเลียนเองก็ยังถูกพบในเวลาต่อมาว่ามีจุดบกพร่องอยู่อีกเล็กน้อย โดยในคริสตศักราช 1582 นายแพทย์คนหนึ่งพบว่าที่จริงแล้วโลกใช้เวลาหมุนรอบดวงอาทิตย์ 365.2425 วันต่างหาก ซึ่งช้ากว่า 365.25 ของจูเลียสอยู่เล็กน้อย อันจะทำให้หากใช้ปฏิทินจูเลียนไปครบ 134 ปี จะทำให้มีวันงอกเกินออกมา 1 วัน จึงได้เสนอการปฏิรูปปฏิทินขึ้นใหม่เรียกว่า "ปฏิทินเกรโกเรียน" และได้พระสันตปาปาเกรโกรีที่ 13 เป็นผู้ประกาศใช้ในปีเดียวกันนั้นเอง

          ปฏิทินเกรโกเรียนให้การปรับปรุงปฏิทินนี้มีผลย้อนหลัง โดยจำนวนวันหายไปสิบวัน ปีล่าสุดที่ถูกปรับคือ  ค.ศ. 1900 และหลังจากนั้นมายังไม่มีการปรับอีกเลย กล่าวคือปฏิทินจูเลียนและเกรโกเรียนในปัจจุบันเดินตรงกันแล้ว

          ส่วนอีกร้อยกว่าปีข้างหน้าจะมีการปรับวันอีกอย่างไรก็ต้องว่ากันอีกที แต่อย่างไรก็ดีในปัจจุบันนี้ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่และอีกนานประเทศทั่วโลกได้ยึดใช้ปฏิทินเกรโกเรียนเป็นปฏิทินสากลแล้ว รวมทั้งประเทศไทยด้วย  

 จะรู้ได้อย่างไรว่าปีไหนเดือนกุมภาพันธ์จะมี 28 หรือ 29 วัน ?

          หลักการคำนวณง่าย ๆ ว่าปีไหนเดือนกุมภาพันธ์จะมี 28 หรือ 29 วัน ให้ใช้ตัวเลขปีคริสตศักราชตั้ง แล้วหารด้วย 4 หากหารลงตัวก็แสดงว่าปีนั้นเป็นอธิกสุรทิน มี 366 วัน ในปีนั้นก็จะได้เห็นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ โผล่ขึ้นมา

          ยกตัวอย่างเช่น ปี ค.ศ. 2008 นำ 2008÷4 = 502 ลงตัวพอดีไม่เหลือเศษ แสดงว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2008 มี 29 วัน 

  แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นชวนปวดหัวอยู่อีก 2 ประการ คือ 

          1. หากปีนั้น หารด้วยเลข 4 และ 100 ลงตัว ไม่ต้องเพิ่มวันที่ 29 (มีแค่ 28 วัน) แต่..

          2. หากปีนั้น หารด้วยเลข 4 และ 100 และก็ยังหารด้วย 400 ลงตัวด้วย ให้กลับไปใช้หลักการเดิมคือเติมเพิ่มลงไปหนึ่งวัน เป็น 29 วัน 


*** สรุปก็คือมีการค้นพบว่าที่จริงแล้วโลกใช้เวลาหมุนรอบดวงอาทิตย์เท่ากับ 365.25 วันแต่ครั้นจะกำหนดปฏิทินให้มีเศษก็ดูแปลกๆ จึงกำหนดให้ปฏิทินมีแค่ 365 วันและเมื่อครบ 4 ปีก็จะมีวันเพิ่มมาอีก 1 วันก็ค่อยเพิ่มเข้าไปในเดือน กุมภาพันธ์ ทำให้ในปีนั้นมี 29 วัน นั่นเอง^^

ขอบคุณข้อมูลจาก oa.kapook.com

Leave a Reply

Subscribe to Posts | Subscribe to Comments

- Copyright © 2013 Nanasara ย่อโลกไว้ที่นี่ - Kurumi Tokisaki - Powered by Blogger - Designed by Johanes Djogan -